ICSI หรือ การทำเด็กหลอดแก้ว หรืออีกชื่อที่อาจจะได้ยินบ่อย ๆ คือ อิ๊กซี่ เป็นการปฎิสนธินอกร่างกาย ที่ได้รับความนิยมสำหรับคนที่มีลูกยาก และอยากมีลูก โดยเป็นการคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาผสมกัน ให้เกิดการปฏิสนธิภายนอก แล้วก็จะเลี้ยงตัวอ่อนที่ได้จนเติบโตถึงระยะที่เหมาะสม จึงทำการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งการย้ายตัวอ่อนอาจจะเป็นการย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียว หรือหลายตัวก็ได้ เพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์แบบปกติต่อไป
สำหรับคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูก และเลือกวิธีรักษาภาวะมีลูกยากแบบ ICSI ควรต้องเข้าไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับทราบถึงข้อจำกัด รวมถึงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ ฝ่ายหญิงต้องมีการตรวจร่างกาย เช่น ตรวจการทำงานของรังไข่ และคัดกรองภาวะติดเชื้อ ฝ่ายชายต้องตรวจดูคุณภาพของอสุจิ
ขั้นตอนในการทำ ICSI
- กระตุ้นไข่ เพื่อทำให้ไข่ในรังไข่มีการเจริญเติบโต และมีจำนวนฟองไข่มากกว่าธรรมชาติ ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีการฟองไข่โตขึ้นมาฟองเดียวในแต่ละรอบเดือน จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้ไข่จำนวนมากสำหรับไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ จนได้เป็นตัวอ่อน ( embryo ) การที่ได้ตัวอ่อนจำนวนมากก็จะทำให้เรามีตัวอ่อนเหลือเก็บแช่แข็งเพื่อใช้ต่อในรอบถัดไปได้ด้วย ขั้นตอนในการกระตุ้นไข่นี้คุณหมอจะตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมน และอัลตร้าซาวน์ เพื่อดูความพร้อมก่อนกระตุ้น ในวันที่ 2-3 ของประจำเดือนและทำการสั่งยาฉีดหน้าท้องทุกวันเพื่อกระตุ้นไข่ โดยใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ยาฉีดหน้าท้องจะเป็นฮอร์โมนเลียนแบบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง เมื่อร่างกายได้รับฮอร์โมนนี้ก็จะไปกระตุ้นโดยตรงที่รังไข่ เพื่อให้มีการผลิตฟองไข่มากขึ้น
- ระหว่างการฉีดยากระตุ้นไข่ คุณหมอจะเฝ้าสังเกตอาการ เพื่อประเมินภาวะตอบสนองของร่างกาย โดยจะมีการตรวจวัดขนาดไข่เป็นระยะโดยการตรวจ อัลตราซาวด์เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับการปรับยาให้เหมาะสมกับขนาดฟองไข่ ป้องกันการตกไข่ก่อนเวลา และยังเป็นการป้องกันการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกิน ( ovarian hyperstimulation )
- คุณหมอจะพิจารณาขนาดของไข่ที่เหมาะสม และจะทำการฉีดฮอร์โมนอีก 1 ตัวเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกและฟองไข่พัฒนาเป็นไข่ที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะนำมาใช้ได้ โดยจะทำการฉีดภายใน 35-37 ชั่วโมงก่อนการเก็บไข่
- การเก็บไข่ จะเป็นขั้นตอนการดำเนินการในห้องผ่าตัด วิธีการเก็บไข่จะใช้เข็มยาวเจาะผ่านทางช่องคลอด แล้วดูดไข่ออกมา โดยมีการอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยบอกตำแหน่งของไข่ การทำขั้นตอนนี้ต้องให้ยาสลบเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่รบกวนในขณะที่เก็บไข่ เมื่อเก็บไข่ได้แล้ว จะนำไปไว้ในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อเตรียมปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิต่อไป
- การเก็บสเปิร์ม วันที่เก็บไข่ ฝ่ายชายต้องทำการเก็บสเปิร์มเพื่อใช้ในการปฏิสนธิ หากฝ่ายชายไม่สะดวกสามารถใช้สเปิร์มแช่แข็งได้ แนะนำให้งดการหลั่งเชื้ออสุจิก่อนมาเก็บเชื้อ 3-5 วัน เพื่อจะได้เชื้อที่อยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุด จากนั้นจะนำเชื้อที่หลั่งออกมาไปคัดเชื้อตัวที่ดีเพื่อนำมาใช้ในการปฏิสนธิ
- การปฎิสนธิ จะเป็นการคัดเลือกสเปิร์มที่แข็งแรง เพื่อปฏิสนธิกับไข่ในห้องทดลองโดยการนำเชื้ออสุจิเจาะเข้าสู่ไข่โดยตรง เรียกว่าการทำICSI
- เมื่อทำการปฏิสนธิแล้ว หลังจากนั้น 1 วันก็จะสามารถตรวจดูได้ว่า ไข่กับอสุจิมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนหรือไม่ โดยท่านจะได้รับรายงานตัวอ่อน พร้อมคำอธิบายจากผู้ดูแลในวันถัดไป
- การเลี้ยงตัวอ่อน หลังจากปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว จะเลี้ยงตัวอ่อนในน้ำยาเพาะเลี้ยง จนตัวอ่อนเจริญเติบโตและแบ่งตัวต่อไปอีก จนเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) แล้วนำกลับไปใส่ในโพรงมดลูก
- การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ คือการย้ายตัวอ่อนรอบสด กับรอบแช่แข็ง การย้ายตัวอ่อนกลับ สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ยาสลบ ไม่เจ็บ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จำนวนตัวอ่อนที่จะใส่ โดยส่วนใหญ่แต่ละครั้งจะไม่ให้เกิน 1-2 ตัวอ่อน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝดจำนวนมากเกินไป ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ หลังย้ายตัวอ่อนเข้าไป อาจมีการบีบตัวของมดลูก ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้บ้าง แนะนำให้นอนพักมากขึ้น งดทำงานหนัก ออกกำลังกายหนักๆ 3-4 วันหลังจากย้ายตัวอ่อน
- หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว ถ้ามีตัวอ่อนเหลือ สามารถทำการแช่แข็งตัวอ่อนที่เหลืออยู่ เพื่อใช้ในการทำเด็กหลอดแก้วในอนาคตได้
- การตรวจการตั้งครรภ์ ประมาณ 10 วันหลังย้ายตัวอ่อน สามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจการตั้งครรภ์ได้
ข้อมูลที่ควรรู้ สำหรับคู่สมรสที่ต้องการทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้ว
- อัตราประสบความสำเร็จในการย้ายตัวอ่อนแต่ละครั้งเฉลี่ยคือ 40 %
- ขั้นตอนในการกระตุ้นไข่และเก็บไข่ จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้จะต้องเข้ามาพบคุณหมอเป็นระยะเพื่อติดตามผลการกระตุ้นไข่ ปรับยา
- เมื่อย้ายตัวอ่อนแล้ว จะต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ ต้องมีความระมัดระวัง พักผ่อนมากขึ้น งดการทำงานหนัก หรือการออกกำลังกายหักโหม
- บางครั้งเมื่อเริ่มทำการกระตุ้นไข่แล้ว อาจจะมีโอกาสไม่ได้ไข่ที่ต้องการ เนื่องจากฟองไข่ไม่เจริญเติบโตตามที่ต้องการ มีการตกไข่ก่อนถึงเวลาเก็บไข่ ทำให้ต้องยกเลิกการกระตุ้นไข่ หรือยกเลิกการเก็บไข่ในรอบนั้น
- การตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้ว ถ้าเป็นครรภ์เดี่ยวพบว่ามีอัตราเสี่ยงไม่ต่างกับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ ได้แก่ การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติทางโครโมโซมของเด็ก แต่จะมีความแตกต่างกันในกรณีตั้งครรภ์แฝด ถ้าเป็นครรภ์แฝด จะมีภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งครรภ์แฝด เช่น ครรภ์เป็นพิษ การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
หากมีข้อสงสัย เกี่ยวการตั้งครรภ์ อยากมีลูก หรือปัญหาเกี่ยวกับภาวะมีลูกยาก
สอบถามสิ่งที่คุณสงสัย หรือต้องการได้คำตอบ ได้ผ่านช่องทาง Line ได้เลย
หรือสามารถตรวจเช็คตารางแพทย์ออกตรวจ
เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ
มีลูกยาก อยากมีลูก ไว้ใจศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากอัครบุตร
โดย รศ.นพ.เรืองศิลป์ เชาวรัตน์ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ