เมื่อพูดถึงการรักษาภาวการณ์มีบุตรยาก และการตั้งครรภ์ เรามักจะได้ยินชื่อของวิตามินชนิดหนึ่งที่ เรียกว่า “กรดโฟลิค” และมักจะมีคำถามจากผู้ที่มารักษานะคะว่า กรดโฟลิค ถ้ากินแล้วจะช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่หรือเปล่า และวิตามินตัวนี้มีประโยชน์อย่างไร ควรกินเมื่อไหร่ เราไปดูรายละเอียดของกรดโฟลิคกันค่ะ ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับกรดโฟลิคกันก่อนค่ะ
กรดโฟลิค หรือกรดโฟลิก (FOLIC ACID) คืออะไร
กรดโฟลิค หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “โฟเลต” คือวิตามินที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เป็นหนึ่งในกลุ่มวิตามิน B เป็นวิตามินที่ละลายนำได้ พบได้ในอาหารตามธรรมชาติ จะพบในพืชผักใบเขียว และผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ตำลึง บล็อคโคลี่ ผักโขม ผักกาดหอม รวมถึงพบวิตามินชนิดนี้ในผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม เมล่อน มะนาว มะเขือเทศ รวมถึงเห็ดชนิดต่าง ๆ ถั่วเมล็ดแห้ง หรือยีสต์ โดยกรดโฟลิค เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็น โฟเลต ถ้าพูดถึงประโยชน์ต่อผู้มีบุตรยาก หรือคุณแม่ตั้งครรภ์ จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสร้างสารพันธุกรรม DNA มีส่วนช่วยในการสร้างตัวอ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ทั้งภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิดจากการขาดโฟลิค นอกจากนี้ยังช่วยซ่อมแซมพันธุกรรม ควบคุมการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ ไปจนถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย
ถ้ากิน กรดโฟลิค ช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่ หรือเปล่า?
สำหรับคำถามนี้ กรดโฟลิคไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพไข่ให้แข็งแรงชึ้นนะคะ แต่จะช่วยบำรุงประสาทของทารกพัฒนาไปสู่สมองและไขสันหลัง เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกอาจจะมีภาวะพิการในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ค่ะ
ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องทานกรดโฟลิคมากกว่าปกติ
เพราะว่าในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการกรดโฟลิคสำหรับลูกน้อย แต่ร่างกายกลับดูดซึมจากอาหารได้น้อยกว่าปกติ ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายของคุณแม่และทารกได้รับกรดโฟลิคที่เพียงพอ จึงต้องมีการเสริมกรดโฟลิกให้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อความสมบูรณ์ต่อการสร้างตัวอ่อนในครรภ์
ควรทานกรดโฟลิคช่วงไหนดีที่สุด
เพื่อผลลัพธืที่ดีนะคะ สำหรับผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ หรือวางแผนมีบุตร ควรจะได้รับกรดโฟลิคทันที เพราะภาวะพิการแต่กำเนิด มักจะเกิดใน 28 วันหลังปฎิสนธิ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่คุณแม่มือใหม่ยังไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ เพราะฉะนั้นควรรับประทานตั้งแต่มีความตั้งใจจะตั้งครรภ์ หรือเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 1-3 เดือน และทานต่อไปอีก 3 เดือน หลังเริ่มตั้งครรภ์จะดีที่สุด หรือถ้าก่อนหน้าที่ไม่ได้ทาน เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้ว ควรรับประทานกรดโฟลิคทันทีค่ะ
เมื่อไม่ได้รับกรดโฟลิกเพียงพอ….จะส่งผลต่อทารกอย่างไร?
ผลกระทบที่เกิดจากการขาดกรดโฟลิคคือ ทารกจะเสี่ยงต่อความพิการ โดยในรายที่เป็นมาก..จะเกิดความพิการทางสมอง ระบบประสาทส่วนกลาง และกะโหลกศีรษะไม่ปิด หากปล่อยให้ตั้งครรภ์จนคลอด…ทารกจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง! ในส่วนของประสาทไขสันหลังเองก็เสี่ยงเกิดความพิการได้เหมือนกัน
ควรรับประทานกรดโฟลิค ในปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม
ปริมาณกรดโฟลิคที่แนะนำให้รับประทานในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ทุกคนคือ 400 ไมโครกรัมต่อวัน และไม่ควรเกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ หากคุณแม่ทานวิตามินรวมทุกวันอยู่แล้ว แนะนำให้ตรวจสอบที่ฉลากว่ามีปริมาณกรดโฟลิคเพียงพอแล้วหรือยัง ถ้าเพียงพอแล้วการทานกรดโฟลิคโดยเฉพาะก็ไม่จำเป็นค่ะ เพราะหากร่างกายได้รับกรดโฟลิกมากเกินไป กรดโฟลิกนี้จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของวิตามินบี 12 ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เป็นโรคโลหิตจางได้
หากมีข้อสงสัย เกี่ยวการตั้งครรภ์ อยากมีลูก หรือปัญหาเกี่ยวกับภาวะมีลูกยาก
สอบถามสิ่งที่คุณสงสัย หรือต้องการได้คำตอบ ได้ผ่านช่องทาง Line ได้เลย
หรือสามารถตรวจเช็คตารางแพทย์ออกตรวจ
เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ
มีลูกยาก อยากมีลูก ไว้ใจศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากอัครบุตร
โดย รศ.นพ.เรืองศิลป์ เชาวรัตน์ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ