ฮอร์โมนสำคัญที่ผู้หญิงควรรู้
ก่อนที่จะเริ่มต้นรักษาภาวะมีบุตรยาก คุณหมอจะตรวจการทำงานของรังไข่ โดยการเจาะเลือดดูค่าฮอร์โมน หรือการอัลตราซาวด์เพื่อวัดจำนวนฟองไข่ในช่วง 3 วันแรกของการมีประจำเดือน ซึ่งการวัดฮอร์โมนรังไข่มีหลักๆ 2 แบบ คือการวัดฮอร์โมน AMH และการวัดฮอร์โมน FSH แล้วฮอร์โมน 2 ตัวนี้แตกต่างหรือมีข้อดีข้อเสียยังไง ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากอัครบุตร รวบรวมข้อมูลมาฝากกันค่ะ
AMH คืออะไร
AMH เป็นการตรวจเพื่อทดสอบสมรรถภาพของรังไข่ (Ovarian Reserve) โดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับ Anti-Mullerian hormone หรือเรียกสั้นๆ ว่า “AMH” ซึ่งผลิตจากรังไข่ มีบทบาทสำคัญในการผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนของเพศหญิง สามารถบอกได้ว่ารังไข่ทำงานปกติหรือไม่ รวมถึงสามารถวัดได้ว่าในรังไข่ยังมีฟองไข่สะสมอยู่มากน้อยแค่ไหน
-หากค่า AMH สูง แสดงว่าไข่สะสมมีจำนวนมาก มีโอกาสที่มีปริมาณและคุณภาพไข่ที่ดี โอกาสสำเร็จในการมีบุตรก็จะสูง
-หากค่า AMH ต่ำ แสดงว่าจำนวนไข่มีน้อย ควรรีบรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งการวัดระดับ AMH นี้ สามารถวัดช่วงเวลาใดก็ได้ของรอบประจำเดือน เนื่องจากค่าไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน แต่ข้อเสีย คือ การตรวจ AMH ราคาค่อนข้างสูง และยังไม่สามารถตรวจได้ทุกโรงพยาบาล
FSH ต่างกันอย่างไร
การวัดระดับฮอร์โมน FSH ก็เป็นการตรวจเพื่อทดสอบสมรรถภาพของรังไข่เหมือนกันค่ะ ฮอร์โมนนี้ผลิตจากต่อมใต้สมอง เป็นตัวที่ช่วยบอกว่ารังไข่ของเรามีการตอบสนองมากน้อยเพียงใด แต่การแปลผลจะตรงกันข้ามกับ AMH
-หากวัดระดับค่า FSH ได้สูง แสดงว่าจำนวนไข่เหลือปริมาณน้อย ตอบสนองน้อย ควรรีบรักษาภาวะมีบุตรยาก ข้อดีตือการตรวจวัด FSH ราคาไม่แพง สามารถตรวจได้แทบทุกโรงพยาบาล แต่มีข้อจำกัดคือ ควรตรวจในช่วง 3 วันแรกของรอบประจำเดือน เนื่องจากค่าฮอร์โมนนี้จะเปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน หากตรวจนอกช่วงเวลานี้อาจทำให้แปลผลยากค่ะ
จะเห็นได้ว่าฮอร์โมนทั้ง2ตัว ก็มีบทบาทช่วยเราในการบอกสมรรถภาพของรังไข่ได้เช่นกัน แต่ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันเล็กน้อยนะคะ คุณผู้หญิงสามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อเลือกชนิดฮอร์โมนในการตรวจตามความเหมาะสมได้เลยค่ะ